วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่ดปน้ำ ภาษีเจริญ

ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสูญหายไปเมื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ กลับคืนมาอีกครั้ง
ประวัติโดยสังเขป
ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราวจนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่น เผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดชีวิตของท่านหลวงปู่วัดปากน้ำเป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมโดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้นคว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด


ประวัติก่อนบวช
 
ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์
                พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗  ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง  ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง หลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว
             ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่น ท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับนอกจากนั้นท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนาก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า เพลคาบ่าวัวถือว่าบาปมาก ท่านจะเลิกตรงเวลาจนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้วก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบายและปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ

 การอุปสมบท 
ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีมีฉายาว่า จนฺทสโร เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียนท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมาก บางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลย ท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า อย่างน้อยที่สุดถ้าจะต้องตายเพราะไม่ได้ฉันอาหารก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉัน เพราะว่าใครๆจะเล่าลือกันไปทั่วจนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ” 
  
การศึกษาปริยัติธรรม
                 ท่านเริ่มเรียนบาลี โดยท่องสูตรก่อนเมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้วเริ่มเรียน มูลกัจจายน์ (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) ขึ้นไป จากนั้นเรียนนามสมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มเรียนคัมภีร์ ตั้งแต่ธรรมบท มงคลทีปนี และสารสังคหะ ตามความนิยมในสมัยนั้นจนชำนาญเข้าใจและสามารถสอนผู้อื่นได้ ขณะกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมาก ต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัดพระเชตุพนฯ เพลแล้วไปเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์ฯบ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่  วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆ กันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป
             สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้นใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน นักเรียนก็เรียนไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งเรียนมากหนังสือที่เอาไปเรียนก็เพิ่มมากขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักวัดอรุณฯ ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านทำให้คุณยายนวมชาวประตูนกยูง เกิดความเลื่อมใส ปวารณาทำปิ่นโตถวายทุกวันนับแต่นั้นมาความลำบากในเรื่องภัตตาหารของท่านก็หมดไป
             ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่างๆ มาหลายปี ครั้นต่อมาข้าหลวงในวังกรมหมื่นมหินทโรดมเลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยจัดภัตตาหารมาถวายทุกวัน ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่สามารถตั้งโรงเรียนขึ้นเองที่ วัดพระเชตุพนฯ โดยเริ่มเรียนธรรมบทก่อน ต่อมาการศึกษาบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา ให้เริ่มเรียนไวยากรณ์ก่อนเป็นลำดับไป

การเข้าถึงวิชชาธรรมกาย



                 หลวงปู่วัดปากน้ำท่านรักการปฏิบัติธรรมมาก ในระหว่างที่ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่นั้น  ท่านก็ยังคงปฏิบัติธรรมทุกวันตลอดมา วันไหนมีเวลา ท่านมักจะไปศึกษาวิปัสสนาธุระจาก   พระอาจารย์ในสำนักต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม)วัดราชสิทธาราม ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพมุนี (มุ้ย)วัดจักรวรรดิฯ พระครูญาณวิรัติ (โป๊)วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ท่านเล่าว่าเคยปฏิบัติธรรมตามแบบพระอาจารย์สิงห์ จนได้ดวงสว่างขนาดประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย พระอาจารย์สิงห์จึงมอบหมายให้ท่านเป็นอาจารย์ช่วยสอนผู้อื่นต่อไป แต่ท่านไม่รับเพราะเห็นว่าตนเองยังมีความรู้น้อย จะไปสอนผู้อื่นได้อย่างไร

             ในพรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่วัดปากน้ำได้ไปจำพรรษาณวัดโบสถ์บนต.บางคูเวียงอ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้มีความคิดที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระและวิปัสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที  เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้วท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ์ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง”เรื่อยไปจนกระทั่งความปวดเมื่อยและอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อยแล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก
                เย็นวันนั้นหลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจส่วนตัวสรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้าแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต
เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมีมดอยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวนท่าน จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทากันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด
เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง ธรรมกาย


การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
             เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านมุ่งมั่นในการนั่งเจริญภาวนาเพื่อไปให้ถึงที่สุด เมื่อยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้ง จนกระทั่งออกพรรษาและรับกฐินแล้ว ท่านจึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์บนไปพักที่วัดบางปลาซึ่งท่านเห็นในสมาธิ(Meditation)ว่าจะมีผู้บรรลุธรรมกาย ตามอย่างท่านได้ ท่านได้สอนภาวนาที่วัดบางปลา จนมีพระภิกษุผู้สามารถเจริญรอยตามท่านได้ ๓ รูปและคฤหัสถ์ อีก ๔ คน หนึ่งในนั้นคือพระสังวาลย์ ท่านได้พาพระสังวาลย์ซึ่งเข้าถึงธรรมกายไปสอนธรรมที่ วัดบรมนิวาส จนมีผู้เข้าถึงธรรมกายด้วยเช่นกัน
             เมื่อรับกฐินแล้วท่านได้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดประตูสารด้วยหวังว่าจะสนองพระคุณพระอุปัชฌาย์ของท่าน แต่พระอุปัชฌาย์ท่านมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่จึงได้อยู่แสดงธรรมเทศนาโปรดญาติโยมที่นั่นเป็นเวลา ๔ เดือน จนมีผู้ศรัธาท่านเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านก็ได้เดินทางกลับวัดพระเชตุพนฯ โดยได้พาพระภิกษุ    รูปมาเรียนพระปริยัติด้วย

การเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

                อยู่มาไม่นาน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำ ได้ขอร้องให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีเจ้าอาวาส ท่านจำต้องรับเพราะไม่อยากขัดใจ ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสมุห์ฐานานุกรม มีพระติดตามมาจำพรรษาที่วัดปากน้ำด้วย ๔ รูปณ ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญนี่เอง การปกครองดูแลวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งพระภิกษุและชาวบ้านในถิ่นนั้นที่เสียผลประโยชน์ต่อต้านท่าน พวกที่ต่อต้านร่วมกันใส่ร้ายป้ายสีท่าน บ้างก็จะทำร้ายท่าน ครั้งหนึ่งมีนักเลงอันธพาล ก่อกวน เมื่อเวลาประมาณสองทุ่ม หลวงปู่วัดปากน้ำท่านปฏิบัติศาสนกิจเสร็จแล้วก็ออกมาจากศาลาเพื่อกลับกุฏิ คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงท่าน ถูกจีวรทะลุ ๒ รู แต่หลวงปู่ไม่เป็นอะไร ท่านมีคติว่า พระเราต้องไม่สู้ ต้องไม่หนี ชนะทุกที่

            การแสดงพระธรรมเทศนาทางปฏิบัติเฉพาะในวัดนั้นพระเดชพระคุณท่านจะเทศน์สอนทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่น ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาศึกษากันอย่างคับคั่ง ซึ่งท่านถือเป็นวัตรปฏิบัติของท่านไม่ยอมขาดเลย เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะยอมขาด  เท่าที่ปรากฏมาท่านเคยขาดกิจกรรมนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง

การได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทาน
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔  ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระมงคลราชมุนี
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระมงคลเทพมุนี


การอาพาธและมรณภาพ
   ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะมรณภาพประมาณ ๕ ปี ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่าท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก ๕ ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคนได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก ๕ ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ ๆ แล้ว

     นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม  แต่ทางด้านจิตใจยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอนนั่งภาวนาแจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น
    เมื่อท่านอาพาธหนักได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอนเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ไม่ให้เผา
    พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบสมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์   พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๕๐ น. สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน มีอายุพรรษาได้ ๕๓ พรรษา 

วัตถุมงคลหลวงพ่อวัดปากน้ำ
พระของขวัญวัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเป็นผู้สร้าง เพื่อแจกเป็นของขวัญให้กับทุกๆ คนที่มาทำบุญให้กับวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านได้ทำทั้งหมดสามรุ่นด้วยกัน เริ่มทำรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 มีจำนวน 84,000 องค์ มีแม่พิมพ์ทั้งหมด 10 แม่พิมพ์ ขนาดขององค์พระอาจจะมีใหญ่และเล็กกว่ากันบ้าง แต่ลักษณะคล้ายกันหมดทุกองค์ พระของขวัญของหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่น 2 เริ่มทำเมื่อ พ.ศ. 2494 ด้วยแม่พิมพ์ชุดเดียวกันกับรุ่นหนึ่ง พระรุ่นนี้สร้างประมาณ 84,000 องค์ ส่วนพระของขวัญรุ่นที่ 3 ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 เป็นจำนวนพระ 84,000 องค์ พระของขวัญรุ่น 3 นี้ ยังใช้แม่พิมพ์เดิมบ้างและแม่พิมพ์ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยการจัดทำของ พระภาวนาโกศลเถร (ธีระ ธมฺมธโร, ป.ธ. ๔) เป็นชุดที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อให้แก้ไขแม่พิมพ์เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแม่พิมพ์เก่าๆ ได้เลือนลางลงไปมาก ฉะนั้นพระวัดปากน้ำรุ่น 3 จึงมีทั้งพิมพ์เดิม และพิมพ์ที่แก้ไขใหม่ พระของขวัญวัดปากน้ำทั้ง 3 รุ่นนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นผู้ที่สร้างและปลุกเสกเองทั้งสิ้น
พระของขวัญวัดปากน้ำรุ่นแรก หลวงพ่อได้เริ่มทำพิธีปลุกเสกตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนกระทั่งถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ครบถ้วนไตรมาส) หลวงพ่อเริ่มแจกครั้งแรกเมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 2493 เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อเอง ณ อุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระของขวัญองค์แรกหลวงพ่อเป็นผู้ได้รับแจกเอง โดยได้บริจาคเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท องค์ที่ 2 ได้แก่ หลวงภูวนาถสนิท (สืบ ตังคะรัตน์) ซึ่งเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ทั้งหมด โดยบริจาคเงินจำนวน 25 บาท การปลุกเสกพระของขวัญวัดปากน้ำ ไม่เหมือนวัดอื่นๆ กล่าวคือ มิได้มีการเชิญเหล่าท่านคณาจารย์มาร่วมปลุกเสก แต่อาศัยบุคคลในวัดที่สามารถเจริญวิชชาธรรมกายขั้นสูงทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นผู้ร่วมกันจัดทำพระของขวัญดังกล่าวขึ้น
พระวัดปากน้ำรุ่นหนึ่ง เมื่อมีคนเอาไปใช้แล้วถูกน้ำ เนื้อพระมักจะละลาย ไม่ค่อยแน่น ต่อมาภายหลังก็ได้เอาพระที่เหลือจุ่มลงในแล็คเกอร์ หรือชแล็คเพื่อป้องกันการละลายน้ำ พระรุ่นหนึ่งมีการจุ่มลงแล็คเกอร์เป็นส่วนน้อย ส่วนพระปากน้ำรุ่น 2 ได้จุ่มแล็คเกอร์ หรือชแล็คหมดทุกองค์ ส่วนพระรุ่น 3 ก็คงใช้ผง และวัสดุจัดสร้างเหมือนกับพระรุ่น 1 และรุ่น 2 แต่ว่าพระรุ่นนี้ได้มีส่วนผสมเพิ่มเติมให้มั่นคงยิ่งขึ้น คือ ผสมกล้วยน้ำว้าและน้ำมันตั้งอิ้ว ฉะนั้น พระรุ่นนี้จึงมีสีน้ำตาลอ่อนๆ แล้วแต่ความแห้งของพระ อาจจะแก่อ่อนกว่ากันก็ได้

พระผงวัดปากน้ำ










เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ รุ่นถวายภัตตาหาร




1 ความคิดเห็น: