วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค



ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ชาติภูมิ ของหลวงพ่อปาน

          ท่านได้ถือกำเนิดที่ย่านวัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๑๘ โยมบิดาชื่อ อาจ โยมมารดาชื่อ อิ่ม นามสกุล สุทธาวงศ์ โดยอาชีพทางครองครัว คือ ทำนา
สาเหตุที่โยมบิดาขนานนามท่านว่า ปานเนื่องจากท่านมีสัญลักษณ์ประจำตัวคือปานแดงอยู่ที่นิ้วก้อยมือซ้าย ตั้งแต่โคนนิ้วถึงปายนิ้วคล้ายปลอกนิ้ว

หลวงพ่อปานในวัยเด็ก

              พระมหาวีระ ถาวโร หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปานว่า
“…ท่าน (หลวงพ่อปาน) บอกว่า สมัยท่านเป็นเด็กอายุสัก ๓-๔ ขวบ ท่านวิ่งเล่นใต้ถุนบ้าน หลวงพ่อปาน ท่านเป็นคนบางนมโค และเป็นคนตำบลนั้น ไม่ใช่คนที่อื่น เป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างจะมั่งคั่งอยู่สักหน่อย สมัยนั้นเขามีทาสกัน ที่บ้านท่านก็มีทาส
ท่านบอกว่า ท่านวิ่งเล่น อยู่ใต้ถุนบ้านย่าของท่าน ก็ปรากฏว่าย่าของท่านกำลังป่วยหนัก ใกล้จะตาย เวลานั้นก็เห็นจะเป็นเวลาบ่ายสัก ๒-๓ โมงกว่า ท่านว่าอย่างนั้นโดยประมาณ
คนทุกคนเขามาเยี่ยมย่า พ่อแม่ของท่านก็ไป เมื่อคนทุกคนขึ้นไปแล้ว ท่านบอก เห็นร้องดังๆ บอก แม่ แม่ อรหันนะ อรหัน ภาวนาไว้ อรหัน พระอรหัน จะช่วยแม่ ก็ร้องกันเสียงดังๆ ท่านอยู่ใต้ถุน ท่านยืนฟัง เขาว่าอรหันกันทำไม
พอท่านสงสัยก็ย่องขึ้นไปที่หน้าบันไดชานเรือน พอท่านขึ้นไปแล้วก็ปรากฏว่า ผู้อยู่เขาเอาปากกรอกไปที่ข้างหูของคุณย่าท่าน บอกแม่ แม่ อรหันนะ อรหัน แต่ว่าพอผู้ใหญ่เขามองเห็นท่านเข้าไป เขาก็ไล่ท่านไป เขาจะหาว่าไอ้เจ้าเด็กมันรุ่มร่าม ท่านก็เลยไปเล่นใต้ถุนบ้านอื่น
พอมาถึงตอนเย็น เวลากินข้าว ท่านแม่ก็ป่าวหมู่เทวฤทธิ์คือเรียกลูกกินข้าว เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้วท่านแม่ก็จัดกับข้าวมาวางกลาง สำหรับตัวท่านเองเป็นเด็ก เขาเอาข้าวใส่จานมาให้แล้วเอาแกงเผ็ด ท่านบอกว่า ไอ้แกงฉู่ฉี่แห้ง ท่านชอบ เขาใส่มาให้ เรียกว่า ไม่ต้องหยิบกับข้าว กินแบบประเภทข้าวราดแกง
เวลาที่ท่านกินเข้าไปแล้วมานั่งนึกว่า กับข้าวมันอร่อยถูกใจ ก็เกิดความชุ่มชื่น พอจิตมันนึกขึ้นได้ว่าเขาบอก อรหัง อรหัง นึกถึงคำว่า อรหัง ขึ้นมาได้ ท่านก็เลยปลื้มใจอย่างไรชอบกล เลยเปล่งวาจาออกมาดังๆว่า อรหัง อรหัง ว่า ๒-๓ คำ
         ท่านแม่ที่มองตาแป๋วลุกพรวด จับชามข้าวที่ท่านถืออยู่วางไว้ จับตัวท่านวางปังออกไปนอกชาน แล้วร้องตะโกน เอ้า มึงจะตายโหง ตายห่าก็ตายคนเดียว มันจะมาว่า อรหัง ที่นี่ได้รึ? คำว่า อรหัง พุทโธ นี่คนเขาจะตายเท่านั้นแหละเขาว่ากัน นี่ดันมาว่า อรหัง ที่นี่ ทำเป็นลางร้ายให้คนอื่นเขาพลอยตายด้วย
ท่านแปลกใจ คิดว่า นี่เราว่าดีๆ นี่แม่ดุเสียงเขียวปัด นี่มันเรื่องอะไรกัน ในเมื่อถูกแม่ดุอย่างนั้น จะขืนว่าอีกก็เกรงไม้เรียว ก็เลยไม่ว่า
พอท่านพูดถึงตอนนี้แล้ว ท่านก็หัวเราะบอกว่า คุณแม่ฉันน่ะโง่นะ ไม่ได้ฉลาดหรอก อีตอนใหม่นั้น ตอนฉันมาบวชได้แล้ว อรหังหรือพุทโธนี้ ถ้าใครภาวนาไว้ เป็นวาจาที่กล่าวถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ทั้งหมด ถ้าใครภาวนาคำนี้ได้ตกนรกไม่ได้
แต่ว่าแม่ของฉัน นี่ท่านไม่รู้ ก็เป็นโทษเพราะไม่ได้รับการศึกษา แต่ว่าไม่เป็นหรอก ตอนหลังที่ฉันบวชแล้วนี่นะ ฉันกลับใจแม่ของฉันได้ ฉันแนะนำให้ท่านทราบแล้ว เวลาท่านตายท่านก็ยึดพุทโธ อรหังเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้ยึดเวลาตาย ฉันให้ท่านว่าทุกวัน….”
           สมัยก่อน เมื่อลูกชายมีอายุครบบวช ก็จะทำการอุปสมบท ทางบิดามารดาจะต้องส่งบุตรของตนไปอยู่วัดเพื่อรับการอบรม และท่องขานนาคเป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน เป็นอย่างน้อย
ท่านเองมีความสงสัยในใจว่า เหตุไฉนสตรีเพศจึงดึงดูดบุรุษเพศมากมายนัก ทำให้หลงใหลใฝ่ฝัน ตัวท่านเองก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงมาก่อน จึงคิดว่าจะหาวิธีลองของจริงดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าดีจริงบวชครบพรรษาจะสึกออกมา ถ้าไม่เป็นจริงตามวิสัยโลกก็จะไม่สึก
ที่บ้านของท่านมีคนรับใช้อยู่คนหนึ่งเรียกกันว่าทาส ชื่อว่าพี่เขียว อายุประมาณ ๒๕ ปี ตอนกลางวันอยู่ด้วยกันสองคน ท่านเกิดสงสัยเนื้อผู้หญิงขึ้นมา บอกว่าตั้งแต่เกิดมานอกจากเนื้อแม่กับเนื้อพี่แล้ว ไม่เคยจับเนื้อใคร ท่านคิดว่าเนื้อผู้หญิงมันดียังไงผู้ชายถึงได้อยากกันนัก บางทีถึงกับฆ่ากันเลย ก็สงสัยว่าจะบวชแล้วนี่ ถ้ามันดีจริงแล้วก็จะสึก ถ้าไม่ดีก็จะไม่สึกละ
            เมื่อคนว่างก็เข้าไปหาพี่เขียว พี่เขียวแกอยู่ในครัว เป็นทาส แต่ว่าท่านเรียกพี่ในฐานะที่เขาแก่กว่าตัว ยกมือไหว้ บอกว่า พี่เขียว ขออภัยเถอะ ฉันขอจับเนื้อพี่เขียวดูหน่อยได้ไหมว่า เนื้อผู้หญิงน่ะมันดียังไง เขาถึงชอบกันนัก
               พี่เขียวก็แสนดี อนุญาต ท่านก็เลือกจับเนื้อกล้าม เขาเรียกว่า กล้ามเนื้อที่หน้าอก ผู้หญิงนี้มีกล้ามเนื้อพิเศษ อยู่ที่กล้ามเนื้อ ๒ กล้ามที่หน้าอก แต่ไม่ได้จับมากหรอก จับตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้ลวนลามไปถึงไหน จับๆ แล้วก็มาจับน่อง เอ๊! มันคล้ายกัน
            บอกพี่เขียวว่านี่มันคล้ายกันนี่ พี่เขียวแกก็บอกว่าเป็นอย่างนั้นมันก็คล้ายกัน แล้วท่านก็ถามพี่เขียวว่า ทำไมผู้ชายเขาถึงชอบเนื้อผู้หญิงนัก ดันไปถามผู้หญิงได้ นี่ว่ากันอย่างเราๆนะ แล้วเขาจะตอบอย่างไร เขาก็บอกไม่รู้เหมือนกัน
          แล้วท่านก็ยกมือไหว้ขอขมาพี่เขียวบอกว่า ขอโทษ ที่ขอจับเนื้อนี่ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่น อยากจะพิสูจน์เท่านั้นว่ามันดีอย่างไรเมื่อท่านหมดความสงสัยในใจแล้ว ก็ตกลงใจว่าจะบวช คราวนี้จะไม่ขอสึกหาลาเพศ ก็สมจริงกับที่ท่านตั้งใจทุกประการ

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

           หลังจากที่โยมมารดาบิดาได้นำท่านมาฝากไว้กับหลวงปู่คล้าย ให้ฝึกหัดขานนาคให้คล่องแคล่วแล้ว ท่านก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแมโดยมี หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์มีฉายาว่า โสนันโท

พระคาถาของหลวงพ่อปาน

(ว่า นะโม ฯลฯ๓ จบ)
พระคาถาบทนำ ว่าครั้งเดียว
พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ

พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์
ว่า ๓ จบ หรือ ๕ จบ หรือ ๗ จบ หรือ ๙ จบ ก็ได้ แต่ต้องสม่ำเสมอ จึงจะเกิดผล
วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มาณี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม

คาถามหาพิทักษ์
จิตติ วิตัง นะกรึง คะรัง
ใช้ภาวนาขณะใส่กุญแจ ปิดหีบ ปิดตู้ ปิดประตูหน้าต่างฯ

คาถามหาลาภ
นะมามีมา มะหาลาภา อิติพุทธัสสะ สุวัณณังวา ระชะตังวา ธะนังวา พึซังวา อัตถังวา ปัตถังวา เอหิ เอหิ อาคัจเฉยยะ อิติมึมา นะมามิหัง
ใช้สวดภาวนาก่อนนอน ๓ จบ และตื่นนอนเช้า ๓ จบ เป็นการเรียกทรัพย์เรียกลาภ
พระคาถา ๓ บทนี้ เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หากผู้ใดนำไปใช้จะเกิดโชคลาภมั่งมีเงินทองอย่างมหัศจรรย์

ท่านมรณภาพวันที่ ๒๖ กรกฏาคม ๒๔๘๑ รวมสิริอายุ ๖๓ ปี ๔๓ พรรษา.


วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ


หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ



"หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร" หรือ "พระครูนิวาสธรรมขันธ์" เจ้าอาวาสวัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องวิทยาคมและเครื่องรางของขลัง จนเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อเดิม รุ่นแรก มีดหมอหลวงพ่อเดิม สิงห์งาแก

ประวัติหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

อัตโนประวัติ หลวงพ่อเดิม เกิดในสกุล ภู่มณี เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2403 โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเนียมและนางภู่ ภู่มณี ประวัติหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพในช่วงวัยเยาว์ก่อนอุปสมบทนั้น โยมบิดามารดา ได้นำเข้าไปหาพระหาวัด โดยการศึกษาของชาวนาหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลาง คือ วัดหนองโพ กระทั่งเมื่ออายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2423 โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ต.สระทะเล เป็นพระอนุศาสนาจารย์

หลวงพ่อเดิม ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" เมื่อหลวงพ่อเดิม อุปสมบทแล้วได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองโพ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามทางที่พระนวกะ ท่านตั้งต้นศึกษาหาความรู้เป็นการใหญ่ รวมทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและท่องพระคัมภีร์วินัย นอกจากนี้ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพท่านยังได้ศึกษาวิทยาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ ภายหลังนายพันธ์ถึงมรณกรรม ได้ไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อเดิม ท่านได้ไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางเหลือง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งหลวงพ่อเดิมปฏิบัติจริงจังตลอดเวลา ภายหลัง หลวงพ่อเดิม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลมากมายหลายรุ่น จนเป็นที่เลื่องลือมากในเรื่องของความขลัง เป็นที่ปรากฏว่า ประชาชนทั้งชาวบ้านและข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดที่ใกล้เคียง ตลอดไปจนจังหวัดที่ห่างไกลบางจังหวัด พากันไปเข้าไปกราบนมัสการฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อมากมาย ขอให้หลวงพ่อเดิมรดน้ำมนต์ แป้งขอผง น้ำมัน ตะกรุด ผ้าประเจียด จากหลวงพ่อ ที่แพร่หลายที่สุด คือ แหวนเงินหรือนิเกิล และผ้ารอบฝ่าเท้าหลวงพ่อ ผ้าประเจียด เกียรติคุณในเรื่อง "วิชาขลัง" มีดหมอหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ของหลวงพ่อนั้นเป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลายมานานแล้ว นอกจากความเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแล้ว หลวงพ่อเดิมยังเป็นพระนักพัฒนาสร้างถาวรวัตถุในวัดมากมาย อาทิ สร้างกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโรงอุโบสถ และสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบไว้ตรงหน้าอุโบสถ เป็นต้น อีกทั้ง ก่อสร้างถาวรวัตถุและปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ ภายในจังหวัดนครสวรรค์อีก

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2457 นำความปีติยินดีแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอันมาก พ.ศ.2462 หลวงพ่อเดิมได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเดิม ได้ปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่มาตลอดเวลา 20 ปี กระทั่งล่วงเข้าวัยชรามาก คณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หลวงพ่อเดิม เปรียบเสมือนร่มโพธิ์และร่มไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาล เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หลวงพ่อกลับจากการเป็นประธานงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมา หลวงพ่อเดิม เริ่มอาพาธ และมีอาการหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์ ต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาลและฟังอาการกันเนืองแน่น ในที่สุด หลวงพ่อเดิม ได้ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี 71 พรรษา ท่ามกลางความเศร้าสลดของพุทธศาสนิกชน คณะศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันสรงน้ำศพหลวงพ่อ ก่อนบรรจุศพตั้งบำเพ็ญกุศล และจัดให้มีการพระราชทานเพลิงในวันที่ 30 สิงหาคม 2494

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้รับการขนานนามและยกย่องเป็น "เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว" ซึ่งชาวนครสวรรค์ให้ความนับถือหลวงพ่ออยู่มิเสื่อมคลาย โดยเฉพาะ วัดหนองโพได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของหลวงพ่อพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิมขนาดเท่าองค์จริงพระเครื่อง และวัตถุมงคลของท่านเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน






หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร

พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร)



ประวัติโดยสังเขป

หลวปู่ภู วัดอินทรวิหาร ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2373 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฎาบดินทร์ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบิดามีนามว่า นายคง โยมมารดามีนามว่า นางอยู่ เมื่ออายุได้ 9 ปี บิดามารดาท่านได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรตรงกับปี พ.ศ. 2382 ที่วัดท่าคอย ได้ศึกษาเล่าเรียกอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับท่านอาจารย์ วัดท่าแค จนกระทั่งเมื่อมีอายุ 21 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. 2394 ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย โดยมี พระอาจารย์อ้น วัดท่าคอย เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มา วัดน้ำหัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายานามทางพระว่า "จนฺทสโร" หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่สำนักวัดท่าแคชั่วระยะหนึ่งก็ได้ออกเดินธุดงค์ จากจังหวัดตากมาพร้อมกับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่ภูท่านได้เข้าไปในกรุงเทพมหานคร ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ แล้วได้ไปช่วยรักษาคนไข้ที่บาดเจ็บ เป็นอหิวาตักโรค ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจักรวรรดิ์ราชาวาสและได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ตามลำดับ และท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรารามเมื่อปี พ.ศ. 2432 และได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2434 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ จนถึงวันมรณภาพเป็นเวลา ๑๓ ปี ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลวงปู่ภูท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ท่านนับว่าเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดเจ้าประคุณสมเด็จมากองค์หนึ่ง หลวงปู่ภูท่านมีอายุยืนถึง 103 ปี พระที่ท่านสร้างขึ้นนั้นเข้าใจว่าท่านสร้างไว้ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.1463 เรื่อยมาหลายปี จำนวนพระที่สร้างขึ้นนั้นจึงมากมายหลายพิมพ์มูลเหตุในการสร้างพระเครื่องของ ท่านก็เพื่อหาทุนปฏิสังขรณ์พระศรีอาริยเมตไตรย์ (หลวงพ่อโต วัดอินทร์) ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้ได้เพียงครึ่งองค์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็มามรณภาพลงเสียก่อนหลวงปู่ภูได้มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2476 เวลา 01.15 น. สิริอายุ 104 ปี พรรษา 83

พระจริยาวัตร

              หลวงพ่อท่านได้ออกธุดงค์เป็นประจำไม่เคยขาด ร่วมเดินธุดงค์ไปกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นบางครั้งบางคราวบางทีท่านออกธุดงค์ก็มีพระภิกษุติดตามด้วยท่านได้เล่าให้ฟังว่า ถึงเรื่องแปลกๆที่ด้ออกรุกขมูลไปตามป่าเขามากมายหลายเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่ตื่นเต้นน่าอ่านมาก ตลอดระยะเวลาที่ท่านมีชิวิตอยู่ ท่านไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มุ่งหน้าปฏิบัติมีพุทธภูมิเป็นที่ตั้ง การร่ำเรียนวิชาอาคมมา ก็เพียงเพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่กำลังทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บนับว่าท่านมีเมตตาธรรมสูงส่ง ท่านปฏิบัติธรรมอย่าเคร่งครัด และออกบิณฑบาตเป็นประจำทุกวัน แต่ความจริงท่านไม่จำเป็นต้องออกก็ได้ เพราะ เจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์พินิจ ได้จัดอาหารมาถวายทุกวัน แต่ท่านก็ออกไปบิณฑบาต เพราะเป็นกิจของสงฆ์ ท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็จะครองผ้าลงโบสถ์และลั่นดานประตู เพื่อมิให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนท่าน จะเจริญพุทธมนต์ถึง ๑๔ ผูก วันละ ๗ เที่ยวแล้วจึงนุ่งวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนถึงเที่ยวทุกๆวัน ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่พอได้เวลาเที่ยง ทางการจะยิงปืนใหญ่ (เพื่อบอกเวลาว่าเที่ยงแล้ว)ในขณะที่ยิงปืนใหญ่ กูหงายหลังทุกทีพอท่านพักได้ชั่วครู่ก็จะบำเพ็ญเจริญภาวนาต่อไปจนถึงตีหนึ่ง จึงจะจำวัด ท่านสามารถรูปเหตุการณ์ล่วงหน้า อย่างเช่น ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น

พระเครื่อง-วัตถุมงคลของหลวงปู่ภู

"พระเครื่องหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหารกันนะครับ พระเนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จนั้น พระของหลวงปู่ภูก็เป็นที่นิยมกันมากเช่นกัน และหลวงปู่ภูท่านก็เป็นลูกศิษย์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อีกด้วย"
เนื้อหามวลสารในการสร้างพระเครื่อง-วัตถุมงคลของท่านนั้นก็ได้นำมวลสารผงวิเศษห้า ประการของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาเป็นส่วนผสมในการสร้างด้วย เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งที่ท่านมาช่วยสร้างพระเครื่องที่วัดบางขุนพรหมนั้น ท่านได้มาพักอยู่ที่วัดอินทร์กับหลวงปู่ภู และท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้สร้างพระหลวงพ่อโตไว้ที่วัดอินทร์แห่งนี้ แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มามรณภาพลงเสียก่อนตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ดังนั้น พระสมเด็จของหลวงปู่ภูจึงมีมวลสารผงวิเศษของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผสมอยู่ด้วย
พระสมเด็จหลวงปู่ภู นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง เช่น พิมพ์แซยิดแขนหักศอก พิมพ์แซยิดแขนกลม พิมพ์เจ็ดชั้น พิมพ์หูติ่ง พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก พิมพ์แปดชั้นแขนกลม พิมพ์สามชั้นหูบายศรี พิมพ์ลีลา พิมพ์ปิดตา พิมพ์พระสังกัจจายน์ ซึ่งมีทั้งแบบข้างเม็ดและพิมพ์ห้าเหลี่ยม พิมพ์ไสยาสน์ และพิมพ์ห้าเหลี่ยม เป็นต้น

พระสมเด็จหลวงปู่ภู ที่สร้างในยุคต้นๆ นั้นเนื้อหาจะดูจัดหนึกนุ่มคล้ายเนื้อพระสมเด็จของวัดระฆังฯ มาก และส่วนมากจะมีความหนาเป็นพิเศษ ในปีต่อๆ มาท่านก็ได้สร้างพระไปเรื่อยๆ จวบจนท่านมรณภาพ พระสมเด็จของหลวงปู่ภูที่มีความนิยมมากๆ และมีสนนราคาสูงก็คือพระสมเด็จพิมพ์แซยิดแขนหักศอกและพิมพ์แซยิดแขนกลม ซึ่งสนนราคาพระสวยๆ สมบูรณ์อยู่ที่หลักแสนครับ พระพิมพ์อื่นๆ ก็นิยมรองลงมา เช่น พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก และพิมพ์แปดชั้น แขนกลม สนนราคาก็อยู่ที่หลักหมื่นปลายๆ ถึงแสน ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ ก็นิยมเช่นกันแต่สนนราคาจะย่อมเยาว์กว่า แต่ก็อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ จนถึงหมื่นปลายๆ ครับ พระสมเด็จของหลวงปู่ภูเป็นพระที่น่าบูชาอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันก็หายากพอสมควรครับ โดยเฉพาะพิมพ์แซยิด ทั้งพิมพ์แขนหักศอกและพิมพ์แขนกลม









วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค่ จ.นครสวรรค์

ประวัติ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค




ประวัติ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปี มะแม ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พศ. 2426 ณ.ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บุตรนายหมี-นางล้อมโกสะลัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน คือ
1.นางลอย
2.นายปลิว
3.หลวงพ่อพรหม
4.นางฉาบ
ทุกคนถึงแก่กรรม
การอุปสมบท
             หลวงพ่อพรหม ในขณะเยาว์วัยได้ศึกษา อ่านเขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2447 ได้รับฉายาว่า "ถาวโร" โดยมีหลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญและเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
             หลวงพ่อพรหม เริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วง ต่อมาเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษาอสุภกรรมฐาน สมถะกรรมฐาน วิปัสสนา จากหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ 4 ปี ในพรรษาที่ 5 อาจารย์พ่วง ได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาส และได้ศึกษาวิชาแขนงต่างๆเป็นเวลา 5 ปีเต็ม จนกระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม ซึ่งในภายหลังหลวงพ่อพรหมได้นำกระดูกมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค จากนั้นหลวงพ่อพรหม ก็ไม่ได้ไปศึกษากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงมีแต่ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่และรุ่นเดียวกันในระหว่างธุดงค์ เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ เป็นต้น

              หลวงพ่อพรหม จะเดินธุดงค์ทั้งเส้นทางใกล้และไกล โดยหลวงพ่อเคยเดินธุดงค์ไปประเทศพม่าถึงเมืองร่างกุ้ง และได้มีโอกาสที่มนัสการพระเจดีย์ชะเวดากอง และเดินธุดงค์ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ และธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน จึงเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก และเดินเรื่อยๆไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก หลวงพ่อพรหม ได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพรหม เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม จึงเริ่มปลูกต้นไม้แห่งศรัทธาลง ณ. ช่องเขาแห่งนี้
ขณะที่หลวงพ่อพรหมจำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว 2 รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาส ภายในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆ บริเวณวัดรกร้าง
             ต่อมาชาวบ้านในแถวนั้นซึ่งมีความนับถือเลื่อมใสหลวงพ่อได้นิมนต์ให้หลวงพ่อพรหมลงมาจำพรรษาข้างล่าง คือวัดช่องแคในปัจจุบัน หลวงพ่อพรหม จึงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดช่องแค โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น หลวงพ่อพรหมได้เริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างไม่มีเสนาสนะใดๆ เมื่อปี 2460 มาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของหลวงพ่อเอง ต่อมาเมื่อทางวัดจะสร้างโบสถ์ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัดจึงขอ อนุญาติหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคลขึ้น
หลวงพ่อพรหม ชอบระฆัง การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อจึงมีรูประฆังและกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อพรหม
             หลวงพ่อพรหม ไม่เคยย้ายไปอยู่วัดใดเลยตลอดระยะเวลา 58 ปี โดยที่หลวงพ่อได้ลาออกจากเจ้าอาวาสเมื่อปี 2514 รวมเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแค 54 ปี เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธมมวโร เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน หลวงพ่อพรหม มรณภาพเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2518 เมื่อเวลา 15.00 น. ณ.โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี รวมอายุได้ 91 ปี 71 พรรษา


การมรณะภาพ
หลังจากหลวงพ่อพรหม มรณภาพแล้ว คณะกรรมการวัดได้บรรจุศพของท่านไว้ในโลงแก้ว อยู่บนศาลาการเปรียญ ศพของหลวงพ่อพรหมไม่เน่าเปื่อย มด ไร มอด และ แมลง ไม่ได้รบกวนทำลายชิ้นส่วนใดๆในร่างกายของท่านแม้แต่น้อย คล้ายกับหลวงพ่อนอนหลับอยู่ แม้ว่าท่านจะมรณภาพมาแล้วถึง 30กว่าปี
สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นคือ หลังจากหลวงพ่อได้มรณภาพแล้วศพของหลวงพ่อไม่เน่าเปื่อย แถม
1.เส้นผมงอกยาว 5-6 มม.
2.เส้นขนคิ้วงอกยาว 5-6 มม.
3.เส้นขนตางอกยาว 1 ซม.
4.หนวดงอกยาว 5-6 มม.
5.เคราใต้คางยาว 5-6 มม.
6.เล็บมืองอกยาว 1 ซม.
7.เล็บเท้างอกยาว 4-5 มม.
              หลวงพ่อพรหม มีวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัยหยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวนรอบๆ 9 รอบ แล้วจึงนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆโดยที่หลวงพ่อลืมตาเพ่งกระแสจิตอัดพลังแล้วจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคลทั้งหลายแล้วหลวงพ่อจับบาตรใส่วัตถุมงคล เพ่ง กระแสจิตอีกครั้งจนกระทั่งวัตถุมงคลเหล่านั้น มีรังสีพุ่งออกมา จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอีกครั้งเป็นเสจ็รพิธี
ดังนั้นเราจะสังเกตุได้ว่าพระเนื้อผงของหลวงพ่อจะมีรอยบิ่น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เพราะเกิดจากหลวงพ่อเอามือคนในบาตร ดังนั้นพระที่มีรอยบิ่นจึงสันนิษฐานได้ว่า ได้สัมผัสกับมือหลวงพ่อโดยตรง

อภินิหาร 'หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค
สยบอสรพิร้าย “งูจงอาง” ช่วยชีวิตเด็ก
           เหนือลิขิต ประกาศิตฟ้าดิน  ฉบับนี้ขอนำ “นาทีระทึกขวัญ” ขณะเด็กน้อยผู้หนึ่งต้อง “ผจญภัย” กับอสรพิษร้ายที่เรียกกันว่า “งูจงอาง” กลางหลุมลึกทั้งที่ “เด็กน้อย” ผู้นี้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยแต่กลับ “รอด” จากถูกอสรพิษร้ายฉกกัดได้ดุจปาฎิหารย์ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น “ผู้พ่อ” ที่มาพบเห็นจึงเชื่ออย่างสนิทใจเป็นเพราะ “พุทธบารมี” และอำนาจแห่ง “พุทธานุภาพ” ของ “เหรียญคุณพระ” ที่เด็กชายคนนั้นแขวนอยู่บนคอแสดงปาฏิหารย์เป็นที่น่าอัศจรรย์ “อ่านความจริง...อ่านเดลินิวส์ ฉบับนี้จึงขอนำ “เรื่องอันน่าพิศวง” เรื่องนี้มาเสนอท่านผู้อ่านเช่นเคย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2517 ที่ จังหวัดตรัง และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ “คุณสาธร ตีระกานนท์ ซึ่งเป็นนักสะสมพระเครื่องอีกผู้หนึ่งได้เผยว่า “ในปี 2517 ได้ปลูกบ้านหลังใหม่ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านหลังเก่า ซึ่งก่อนปลูกบ้านก็จะต้องมีพิธี “ยกเสาเอก” ตามแบบอย่างโบราณจึงขุดหลุม “สี่เหลี่ยม” กว้างเมตรครึ่งและลึกเมตรเศษเพื่อทำพิธียกเสาเอก หลังจากขุดหลุมเสร็จจึงไปหาซื้อข้าวของสำหรับจัดพิธีในตัวตลาด แต่พอกลับมาถึงบ้านก็ไม่เห็น “ลูกชาย” อายุขวบเศษที่ปล่อยให้นอนอยู่ยังบ้านหลังเดิมเพียงลำพัง จึงเดินตามหารอบๆบ้านพร้อมทั้งตะโกนเรียกก็ไร้เสียงตอบ จึงเดินไปดูตรงที่ขุดหลุมไว้เพื่อยกเสาเอกก็เห็นลูกชายตัวน้อยตกลงไปในหลุม ที่มี “งูจงอางตัวเขื่อง ยาวประ มาณเมตรเศษตัวดำเมี่ยมนอนขดตัวอยู่ตรงหน้า “ลูกชาย” ที่ขณะนั้นมีทีท่าหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัดจนไม่กล้าส่งเสียงใดๆเลย “คุณสาธร” จึงรีบยื่นมือคว้าเอาตัวลูกชายขึ้นจากหลุมอย่างระมัดระวังพร้อมถาม “โดนงูกัดหรือเปล่าลูก” ลูกชายสั่นหัวแทนคำตอบเนื่องจากขณะนั้นพูดอะไรไม่ออก “คุณสาธร” จึงสำรวจเนื้อตัวลูกชายเมื่อไม่พบ “รอยถูกงูกัด” จึงโล่งใจแต่ก็เกิดอาการฉงนไฉนลูกชายจึงไม่ถูก “งูฉกกัด” ทั้งที่อยู่ในหลุมแคบๆด้วยกันชั่วครู่จึงมองไปที่คอลูกชายก็พบว่ามี “เหรียญหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค” รุ่น “แจกทาน” ที่ตนเองเป็นผู้ให้ลูกชายแขวนไว้จึงยกมือขึ้นสาธุเพราะรู้ทันทีว่าด้วยบารมี อันศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อพรหม” ที่ช่วยชีวิตลูกชายไว้เนื่องจากสัญชาติ “อสรพิษร้าย” อย่างงูจงอางหากอยู่ใกล้คนเป็นต้องฉกกัดทันทีดังนั้นเมื่อ “ลูกชาย” รอดจากถูกงูฉกกัดเช่นนี้จึงนับเป็น “ปาฏิหาริย์ ที่ “หลวงพ่อพรหม” บันดาลขึ้นโดยแท้ต่อมาหลังจากทำพิธี “ยกเสาเอก” เสร็จเรียบร้อยโดยจับ “งูจงอาง” ปล่อยเข้าป่าไป “คุณสาธร” ก็พาลูกชายพร้อมครอบครัวไปทำบุญกับ “หลวงพ่อพรหม” ที่วัดช่องแคพร้อมกราบขอบพระคุณที่ท่านช่วยลูกชายทั้งที่ท่านได้ละสังขารไป นานแล้ว

           หลวงพ่อพรหม ถาวโร แห่ง “วัดช่องแค” ตำบลพรหมนิมิตร อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 5ค่ำเดือน 5ปีมะแม ตรงกับวันที่ 12เมษายน พ.ศ.2426 ณ ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะยังเยาว์วัยได้ศึกษาอ่าน-เขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน พออ่านออกเขียนได้แล้วหลวงพ่อก็เรียนอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทย จึงมีความรู้ภาษาขอมพอสมควรครั้นอายุครบบวชได้อุปสมบทที่ วัดเขียนลาย ตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 15มีนาคม พ.ศ.2447 โดยมี หลวงพ่อถมยา วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมเพิ่มเติมจนชำนาญ จากนั้นเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลวงพ่อเคยเล่าให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า หลวงพ่อเริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมจากอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสชื่อ อาจารย์พ่วง ต่อมาหลังจากอุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษา อสุภกรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนา จาก หลวงพ่อดำ ประมาณ 4ปีในพรรษาที่5 อาจารย์พ่วง ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกได้พาไปฝาก อาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาสและได้ศึกษาวิชาแขนงต่างๆเป็นเวลา5ปีเต็ม จากนั้นหลวงพ่อไม่ได้ไปศึกษาวิชากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงอีก แต่อาจมีการแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่ระหว่างธุดงค์บ้างเช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อพรหมเคยเดินธุดงค์ไปยังประเทศพม่า จนถึงเมืองร่างกุ้งและไปนมัสการ พระเจดีย์ชะเวดากอง หลวงพ่อได้เดินธุดงค์อยู่ในประเทศพม่านานพอสมควร จึงเดิน ทางลัดเลาะตามแม่น้ำสายต่างๆผ่านมาทาง ด่านแม่ละเมา จังหวัดตาก และเดินทางเรื่อยมาจนถึง เขาช่องแค ตำบลพรหมนิมิตร อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักจึงไปหลบฝนในถ้ำเล็กๆบนเขาช่องแค ต่อมาหลวงพ่อเห็นว่าเขาช่องแคนี้เป็นที่วิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมจึงปฏิบัติธรรมอยู่ ณ เขาช่องแค ซึ่งขณะนั้นมีภิกษุจำพรรษาอยู่เพียง 2 รูป โดยไม่ได้ย้ายไปอยู่วัดใดอีกเลยตลอดระยะเวลา 58ปีจำพรรษาอยู่ วัดช่องแค หลวงพ่อได้สร้างประโยชน์โดยการทำนุบำรุงศาสนาก่อสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัด พร้อมทั้งให้การอุปถัมภ์ โรงเรียนวัดช่องแค กระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 30 มกรา คม พ.ศ.2518 ณ โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี รวมอายุ 91 ปี 71 พรรษา

หลังจากหลวงพ่อพรหมมรณภาพแล้ว คณะกรรมการวัดได้บรรจุศพของท่านซึ่งปรากฏว่าไม่เน่าเปื่อย มด ไร มอด และแมลง ไม่ได้รบกวนทำลายชิ้นส่วนใดในร่างกายของท่านแม้แต่น้อย คล้ายกับหลวงพ่อนอนหลับเฉยๆถึงแม้ว่าท่านจะมรณภาพมาแล้วถึง 33ปี ก็ตามนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารของท่านหลังจากละสังขารแล้วก็คือ 1. เส้นผมงอกยาว 2. เส้นขนคิ้วงอกยาว 3. เส้นขนตางอกยาว 4. หนวดงอกยาว 5. เคราใต้คางยาว 6. เล็บมืองอกยาว 7. เล็บเท้างอกยาว ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งหากท่านผู้อ่าน มีโอกาสก็สามารถเดินทางไปกราบนมัสการ ขอพรจากสังขารของท่านที่นอนสงบนิ่งอยู่ ณ วัดช่องแค ได้เพราะบารมีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อมีหลายรุ่นมักจะมีรูประฆังไม่ว่าจะเป็น “เหรียญ” หรือ “พระเนื้อผง” มีรูปหลวงพ่อนั่งอยู่ในระฆังจนดูเหมือนวัตถุมงคล “รูประฆัง” จะเป็นเอกลักษณ์ประจำ ตัวของหลวงพ่อนอกจากนั้นก็มีวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ อีกมากมายหลายแบบล้วนมีพุทธคุณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วไป ปัจจุ บันวัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการปลอมแปลงมากมายแทบทุกรุ่นทุกแบบ ท่านที่ต้องการแสวงหาควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นอาจเสียทรัพย์ไปโดยไม่ได้ของแท้มาสักการบูชา